หลวงปู่ทวด วัดพระสิงห์ พระอาจารย์ทิมได้สร้างขึ้นแล้วนำไปมอบให้ท่านเจ้าคุณ พระธรรมราชานุวัตร เจ้าอาวาสวัดพระสิงห์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๖ ซึ่งมีประวัติการสร้างชัดเจน น่าเก็บสะสม เมื่อเทียบกับพระหลวงพ่อทวดรุ่นอื่นๆ ที่พระทิมสร้างขึ้นในช่วงใกล้เคียงกัน
พระหลวงพ่อทวด วัดพระสิงห์ ปี ๒๕๐๖ รุ่นนี้มี ๕ พิมพ์ ด้วยกัน คือ
๑.พิมพ์ใหญ่ ฐานรอยพระบาท องค์หลวงพ่อทวด คล้ายกับพระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ รุ่นลอยน้ำ ปี ๒๕๐๒-๒๕๐๘ นั่งบนฐาน ประทับด้วยรอยพระบาทพิมพ์นี้มีเอกลักษณ์ ออกแบบได้สวยงาม ไม่ซ้ำพิมพ์กับพระหลวงพ่อทวด ที่สร้างจากวัดไหนเลย เป็นพิมพ์นิยม มี ๒ พิมพ์ คือ พิมพ์หน้าธรรมดา และพิมพ์หน้าผากมีขีด เนื้อว่านมีทั้งสีดำ สีเทาดำ และ สีน้ำตาล
๒.พิมพ์ใหญ่ ฐานบัว องค์พระฟอร์มเดียวกับพิมพ์ฐานรอยพระบาท ต่างกันแค่ฐานรองรับองค์พระ เป็นฐานบัวคว่ำ บัวหงาย มี ๒ พิมพ์ด้วยกัน คือ พิมพ์ลึก และพิมพ์ตื้น พิมพ์ตื้นมีขนาดเล็กกว่าพิมพ์ลึกเล็กน้อย เนื้อว่านมีทั้งสีดำ สีเทาดำ และสีน้ำตาล
๓.พิมพ์กลาง ฟอร์มองค์พระ เหมือนกับพระหลวงพ่อทวด พิมพ์หลังเตารีดใหญ่ เข้าใจว่าถอดพิมพ์จาก พิมพ์หลังเตารีดใหญ่ พิมพ์นี้มีน้อย ที่พบเห็น เนื้อว่านมีสีดำ และสีเทา
๔.พิมพ์เล็ก ฟอร์มองค์พระ เหมือนกับพระหลวงพ่อทวด พิมพ์หลังเตารีดเล็ก หลังตัวหนังสือ น่าจะถอดพิมพ์มา เหมือนพิมพ์กลาง พระพิมพ์นี้ส่วนใหญ่องค์พระจะสวยและคมชัด ด้านหลังเรียบ เนื้อว่านมีทั้งสีดำ และสีเทา
๕.พิมพ์จิ๋ว องค์พระมีขนาดเล็กกว่าทุกพิมพ์ เข้าใจว่าแกะพิมพ์ขึ้นมาใหม่ เจตนาสร้างสำหรับให้เด็กใช้แขวน ความสวยงามและรายละเอียดน้อยกว่าพิมพ์อื่นๆ
นอกจากนี้ยังมี รูปเหมือนบูชาหน้าตัก ๓ นิ้ว เนื้อปูนผสมผงและว่าน มีจำนวนไม่มาก
พระหลวงพ่อทวด พิมพ์กลาง และพิมพ์เล็ก รุ่นนี้ นอกจาก พระอาจารย์ทิม นำไปถวาย พระธรรมราชานุวัตร เจ้าอาวาสวัดพระสิงห์ แล้ว ยังได้นำส่วนหนึ่งไปแจกที่วัดไทร จ.นครสวรรค์ อีกด้วย เนื้อว่านมีทั้งสีเทาดำ และสีน้ำตาล
ท่านเจ้าคุณ พระธรรมราชานุวัตร อดีตเจ้าอาวาสวัดพระสิงห์ มีความสนิทสนมกับพระอาจารย์ทิม วัดช้างให้มาก ได้เล่าว่า พระหลวงพ่อทวด ที่วัดพระสิงห์นำออกให้เช่าบูชานั้น เป็นพระหลวงพ่อทวดที่ พระอาจารย์ทิม สร้างจากวัดช้างให้ เมื่อปี ๒๕๐๖ แล้วนำมามอบให้วัดพระสิงห์ ๑ กล่อง จำนวนหลายพันองค์ โดยองค์พระบรรจุอยู่ในถุงพลาสติก ถุงละ ๕ องค์ ๕ พิมพ์ด้วยกัน ในถุงยังมีกระดาษพิมพ์คาถาบูชาหลวงพ่อทวด “นะโมโพธิสัตโต อาคันติมายะ อิติภะคะวา” ใส่มาด้วย
พระหลวงพ่อทวด วัดพระสิงห์ เป็นพระเนื้อว่าน ผสมดินละเอียด และเกสรดอกไม้ เป็นเทคนิคการสร้างพระของเมืองใต้ สีของพระขึ้นอยู่กับปริมาณว่านที่ใช้ผสม ว่ามากหรือน้อย
สีออกดำ เพราะผสมว่านและกากยายักษ์มาก สีออกเทา ถ้าผสมดินและผงมากกว่าว่าน สีน้ำตาลก็มี แต่จำนวนน้อย แหล่งวัสดุว่านที่ใช้ (ว่านสดที่มีชื่อเป็นสิริมงคล) เป็นพืชที่หาได้ง่ายตามภูเขาในภาคใต้ ก็เป็นเหตุผลหนึ่งว่า ทำไมคนใต้จึงนิยมสร้างพระด้วย เนื้อว่าน กันมาก